ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา >> ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนด ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
1) บุคคลธรรมดา
2) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
3) ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
4) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
5) วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
เมื่อมีเงินได้เกิดขึ้นแล้ว ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องทำอะไรบ้าง?
1. ขอมีเลข และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิดขึ้น กรณีเป็นผู้มีเงินได้ที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ได้แก่ เป็นคนต่างด้าว หรือกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
เว้นแต่ ผู้มีเงินได้ ที่มีเลขประจำตัวประชาชน สามารถใช้ เลขประจำตัวประชาชน แทนเลขประจำตัว ผู้เสียภาษีอากรได้ โดยไม่ต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรอีก
2. ยื่นแบบแสดงรายการปกติปีละ 1 ครั้ง เงินได้ของปีใดก็ยื่นแบบฯ ภายใน วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป เว้นแต่เงินได้บางลักษณะ เช่น การให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการรับเหมา เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เป็นต้น จะต้อง ยื่นแบบฯ ตอนกลางปี สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายในเดือนกันยายน ของทุกปี
——————————————————
*หมายเหตุ บทความนี้ให้ความรู้เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตอน ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา? เบื้องต้น วันที่จัดทำ 28/10/2562
——————————————————
ขอขอบคุณข้อมูลจาก “กรมสรรพากร” เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
แหล่งที่มา: http://www.rd.go.th/publish/309.0.html