ภาษีการรับมรดก เรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้ สำหรับภาษีมรดกนั้น เมื่อผู้ที่เป็นเจ้าของกองมรดกตาย กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย หรือพินัยกรรม สำหรับใครที่รับมรดกมาแล้วไม่เข้าใจในเรืองภาษีมรดก บทความนี้มีคำตอบให้ครับ +++
…………………………………………………………………….
มาทำความเข้าใจกันต่อ
ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) เกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย ผู้รับมรดกจากเจ้ามรดก แต่ละรายได้รับมรดกสุทธิมาในคราวเดียวหรือหลายคราว รวมกันแล้วมีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
…………………………………………………………………….
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก..?
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ได้แก่ ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดก หักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกสามารถสรุปได้ดังนี้
- บุคคลธรรมดา
- นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย
- กรณีผู้ที่ได้รับมรดกเป็นนิติบุคคลที่มิได้ถือว่าเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตาม 2. แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
หมายเหตุ : ยังมีรายละเอียดแยกย่อย ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
…………………………………………………………………….
ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก..?
- อสังหาริมทรัพย์
- หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันซึ่งอยู่ในประเทศไทย ที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้
- ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน
- ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
…………………………………………………………………….
การยกเว้นภาษีการรับมรดก..?
- บุคคลผู้ที่ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนา หรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์
- หน่วยงานของรัฐ และนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์
- บุคคล หรือองค์การระหว่างประเทศ ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีต่อองค์การสหประชาชาติ หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญา หรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ
…………………………………………………………………….
*หมายเหตุ บทความนี้ให้ความรู้เรื่อง ภาษีการรับมรดก วันที่จัดทำ 25/03/2562
…………………………………………………………………….
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก “กรมสรรพากร” หัวข้อเรื่อง ภาษีการรับมรดก