เบี้ยปรับเงินเพิ่ม (กรณีนำภาษีซื้อต้องห้ามมาหักออกจากภาษีขาย)

ในบทความนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับเบี้ยปรับเงินเพิ่ม (กรณีนำภาษีซื้อต้องห้ามมาหักออกจากภาษีขาย) กรณีหากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำภาษีซื้อต้องห้ามมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีนั้น และยังต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ดังนี้

–>เบี้ยปรับจากการนำภาษีซื้อต้องห้ามมาใช้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม มี 2 กรณี

1. เบี้ยปรับ 1 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี

  • ไม่มีใบกำกับภาษี ใบกำกับภาษีสูญหาย หรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้
  • ใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด
  • ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน
  • ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี
  • ภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)

2. เบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี

กรณีนำใบกำกับภาษีปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

หมายเหตุ:

(1) ใบกำกับภาษีที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า บุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม
(2) ผู้ประกอบการที่นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ในการเครดิตภาษี นอกจากต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแล้ว หากเจตนานำใบกำกับภาษีปลอม หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาใช้ในการเครดิตภาษีต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

–>เงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีที่ป็นภาษีซื้อต้องห้าม

นับเมื่อพันกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้เงินเพิ่มไม่เกินจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีนั้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

โทร: 085-067-4884
LINE ID: @greenprokspacc
แอดไลน์คลิกลิงก์ https://bit.ly/2dMmtrHP

เครดิตบทความ/อ้างอิง

กรมสรรพากร, สำนักวิชาการแผนภาษี กลุ่มบริหารการเสียภาษีขนาดกลางและขนาดเล็ก เอกสาร เรื่อง ภาษีซื้อต้องห้าม
ที่มา: https://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/porkor/taxused/BanPasi.pdf